วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

รู้จักกับบริษัทจัดหางาน


คำว่า “ บริษัทจัดหางาน ”
หลาย ๆ คนอาจไม่รู้จัก แต่คนหางานอีกหลาย ๆ ท่าน อาจคุ้นเคยกับชื่อนี้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ฝากประวัติไว้กับเว็บไซต์รับฝากประวัติต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น Jobthai, JobDB, JobBKK, Jobpassport และเว็บไซต์อื่น ๆ อีกหลายเว็บไซต์

ตัวผมเองในฐานะที่ทำงานอยู่ในวงการจัดหางานมานาน จึงอยากนำเสนอความรู้เกี่ยวกับบริษัทจัดหางานให้คนหางานได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

บริษัทจัดหางาน หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ Recruitment Company ” ซึ่งในวงการจัดหางานบ้านเราก็มีมากมายหลายบริษัท โดยเราจะทำหน้าที่สรรหาพนักงานให้กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกกันว่าบริษัทลูกค้า และพนักงานที่เราสรรหามานั้นเรียกว่า แคนดิเดต (Candidate)

โดยบริษัทจัดหางาน จะเสาะแสวงหาแคนดิเดตจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทลูกค้ากำหนดมา โดยในเบื้องต้นจะดูจากประวัติย่อ หรือที่เรียกว่า Resume ที่ฝากไว้ตามเว็บไซต์รับฝากประวัติดังที่กล่าวมาแล้ว โดยพิจารณาจากหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้งประวัติส่วนตัว การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน


เมื่อคิดว่าเจอแคนดิเดตที่ใช่แล้ว จากนั้นจึงลงมือกดโทรศัพท์เพื่อเสนองาน เมื่อพูดคุยรายละเอียดงานและเสนองาน ถ้าแคนดิเดตคนนั้นสนใจในเนื้อหางานที่ตรงกับความต้องการของตนเอง รวมทั้งข้อเสนอเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการที่ตนจะได้รับ จากนั้นขั้นตอนต่อมาจึงเป็นการเชิญแคนดิเดตเข้ามาสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ ณ สำนักงานของบริษัทจัดหางาน เพื่อคุยในรายละเอียดที่มากขึ้น ทั้งประสบการณ์ของแคนดิเดต รายละเอียดงานที่จะเสนอ รวมทั้งรายได้และสวัสดิการที่แคนดิเดตจะได้รับ และที่สำคัญเพื่อดูบุคลิกของแคนดิเดตด้วย บริษัทจัดหางานหลาย ๆ แห่งจะถือโอกาสนี้ทำการทดสอบภาษาอังกฤษ หรือทดสอบทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าแคนดิเดตมีศักยภาพเหมาะสมกับตำแหน่งงานของบริษัทลูกค้า

จากนั้นจึงสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับแคนดิเดตที่คิดว่ามีศักยภาพแล้วส่งให้บริษัทลูกค้าพิจารณา ถ้าบริษัทลูกค้าสนใจที่จะสัมภาษณ์แคนดิเดตคนนั้น บริษัทจัดหางานจึงนัดหมายแคนดิเดตเพื่อเข้าสัมภาษณ์กับบริษัทลูกค้า ณ สำนักงานของบริษัทลูกค้าเพื่อพูดคุยงาน ถ้าหากบริษัทลูกค้าสนใจอยากให้แคนดิเดตคนนั้นมาร่วมงาน และแคนดิเดตก็สนใจร่วมงานด้วย การต่อรองเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการจึงเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่บริษัทจัดหางานจะช่วยแคนดิเดตต่อรองเงินเดือนด้วย ต่อจากนั้นการเซ็นต์สัญญาและนัดหมายวันเริ่มงานจะเป็นขั้นตอนต่อมาครับ ซึ่งสถานะภาพการจ้างงานระหว่างบริษัทลูกค้ากับแคนดิเดตก็มีทั้งเป็นพนักงานประจำของบริษัทลูกค้าโดยตรงหรือเป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Subcontract) ซึ่งจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในสัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงาน

เป็นอย่างไรบ้างครับ บทความนี้พอจะทำให้มองเห็นการทำงานของบริษัทจัดหางานบ้างแล้ว ถ้าหากท่านได้รับโทรศัพท์เสนองานท่านมีสิทธิ์ที่จะสอบถามได้ว่างานที่จะให้ทำเป็นอย่างไร Scope งานมากน้อยแค่ไหน ทำงานที่ไหน สัญญาจ้างเป็นพนักงานหรือเป็น Subcontract ที่สำคัญเรื่องรายได้และสวัสดิการ ถามได้ครับ แต่ต้องถามให้เป็น จะเขียนประวัติอย่างไรจึงมีคนโทรเสนองาน จะนำเสอในโอกาสต่อไป ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น